รู้จัก 30 วัฒนธรรมญี่ปุ่นน่ารู้

ญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์อันเก่าแก่และวัฒนธรรมที่สวยงามยาวนาน และพวกเขายังคงสามารถรักษาวัฒนธรรมที่ดีงามนั้นไว้ได้ดี วันนี้ขอพาไปแนะนำวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเป็นญี่ปุ่นที่น่าสนใจ ซัก 30 อย่างด้วยกัน
1 กิโมโน (Kimono)

เราคงคุ้นเคยกันดีกับชุดกิโมโน (Kimono) ซึ่งเป็นชุดแต่งกายประจำชาติของญี่ปุ่น กิโมโนมีลักษณะเป็นเสื้อคลุมขนาดยาวที่มีแขนเสื้อกว้างมาก ใช้สายคาดที่เรียกว่าโอบิ (Obi) รัดเสื้อคลุมให้อยู่กับตัว มีลวดลายที่งดงามบนเนื้อผ้าที่ถักทอมาอย่างประณีต ซึ่งปัจจุบันนี้ชุดกิโมโนไม่เพียงแค่เป็นชุดที่ใส่กันไปร่วมงานเทศกาลและพิธีสำคัญต่างๆ เท่านั้น แต่กลายเป็นแฟชั่นยอดนิยมที่ชาวต่างชาติจำนวนมากให้ความสนใจด้วย
มีอึกหนึ่งชุดคล้ายกันที่ชาวต่างชาติมักจะจำสับสน นั่นคือยูตาตะ (Yukata) ซึ่งเป็นชุดที่ออกแบบมาแบบมีความพิธีการน้อยกว่ากิโมโน ไม่มีซับใน และสามารถใส่ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีใครช่วย
2 พิธีชงชา (Sadou, Chadou)

พิธีชงชา หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่าซะโด (Sadou) หรือ ฉะโด (Chadou) แปลว่าวิถีแห่งชา เป็นพิธีกรรมที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของญี่ปุ่นที่แฝงให้เห็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นที่มีความเรียบง่าย ประณีต และพิถีพิถัน ชาที่นำมาใช้ชงนั้นเป็นชาบดจนเป็นผงละเอียดเรียกว่ามัทฉะ (Matcha) ขั้นตอนการชงคือตักมัทฉะใส่ถ้วย ตักน้ำร้อนจากหม้อต้มใส่ลงไป ใช้ไม้คนจนชาเป็นฟองก็เป็นอันเสร็จ จากนั้นก็ยกถ้วยชาเสิร์ฟให้กับแขก ซึ่งมักจะดื่มคู่กับขนมหวานชิ้นเล็กๆ เพื่อตัดความขมของชา
3 ฮานามิ (Hanami)

เมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ กิจกรรมที่ห้ามพลาดเลยคือการไปชมดอกซากุระ เป็นประเพณีการชมดอกไม้ของประเทศญี่ปุ่นที่เรียกว่าฮานามิ (Hanami) ได้รับความนิยมทั้งคนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวด้วย ทุกคนต่างเฝ้ารอการไปทำกิจกรรมตามจุดชมซากุระในที่ต่างๆ เราจะได้เห็นคนญี่ปุ่นนำเสื่อหรือผ้าไปเพื่อปูพื้นสำหรับนั่ง พร้อมกับอาหารและเครื่องดื่มเพื่อรับประทานและสังสรรค์กันบริเวณใต้ต้นซากุระ ตามจุดชมซากุระแต่ละแห่งก็จะมีการออกร้านกันอย่างคึกคัก และคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวที่มาชมความงามและถ่ายรูปดอกซากุระ
จุดชมซากุระยอดนิยมของนักท่องเที่ยวก็อย่างเช่น สวนสาธารณะอุเอโนะ (Ueno Park) หรือปราสาทโอซาก้า (Osaka Castle) เป็นต้น
4 ชินโต (Shinto)

ชินโต (Shinto) เป็นหลักความเชื่อในการดำเนินชีวิตของชาวญี่ปุ่นมายาวนานตั้งแต่โบราณกาล คำว่าชินโตแปลได้ว่าวิถีแห่งเทพเจ้า ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการบูชาเทพเจ้าที่เรียกว่าเทพเจ้าแปดล้านองค์ (Yaoyorozu no Kami) เนื่องจากคนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่ามีเทพเจ้าจำนวนนับไม่ถ้วนสถิตอยู่ในธรรมชาติทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ ก้อนหิน
หนึ่งในข้อสรุปสำคัญของชินโตนั้น นิยมสรุปว่า การบูชาธรรมชาติเป็นรากฐานของชินโต ไม่ว่าจะต้นไม้ ลำธาร ก้อนหิน ล้วนแล้วแต่มีเทพเจ้า หรือคามิ (Kami) สิงสถิตอยู่
5 เซ็น (Zen)

เซ็น (Zen) เป็นนิกายหนึ่งในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ที่มีความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่น มีการผสมผสานแนวคิดของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจากอินเดียและปรัชญาจากลัทธิเต๋าของจีน เซ็นมีรากศัพท์มาจากคำว่าฌาน (Jhana) ที่แปลว่าสมาธิ
เซ็นจะไม่บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ แต่ยึดถือหลักปฏิบัติธรรมที่ช่วยในการกล่อมเกลาจิตใจ โดยจะเน้นที่การฝึกปฏิบัติ ฝึกการใช้ปัญญา และนั่งสมาธิเพื่อให้เกิดความรู้แจ้ง โดยความรู้แจ้งเป็นหนึ่งในจุดหมายของเซ็น ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่าซาโตริ (Satori) ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าตรัสรู้
หนึ่งในสัญลักษณ์ของเซ็น ที่สามารถจับต้องได้ ก็คือสวนหินแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า คะเรซันซุย (Kare Sansui) หรือที่ชาวต่างชาตินิยมเรียกกันว่าสวนเซ็น (Zen Garden)
6 โทริอิ

นี่คือสิ่งที่เห็นได้เป็นประจำสำหรับคนชอบเที่ยวศาลเจ้าชินโต นอกจากภูเขาไฟฟูจิและดอกซากุระแล้ว สิ่งที่เหมือนเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างของญี่ปุ่นก็คือโทริอิ (Torii) นี่เอง
โทริอิเป็นซุ้มประตูที่เป็นเสาขนาดใหญ่ 1 คู่ ด้านบนมีไม้ท่อนขนาดเล็กกว่าวางพาดขวาง 1 คู่ และมักนิยมทาสีแดงชาด เป็นความเชื่อของชินโตที่ตั้งไว้เพื่อให้เป็นที่รู้ว่าหลังเสาโทริอินี้เป็นอาณาเขตของเทพเจ้า มักพบเห็นเสาโทริอิได้ตามศาลเจ้า และสถานที่ที่เชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ อย่างเช่นตามป่า ภูเขา ทะเลสาบ
7 ซูชิ (Sushi)

ถ้าพูดถึงอาหารญี่ปุ่น หลายๆ คนคงนึกถึงซูชิ (Sushi) ด้วยรูปลักษณ์ที่น่ารับประทานบวกกับรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นทำให้ปัจจุบันซูชิได้รับความนิยมไปทั่วโลก
ส่วนประกอบหลักของซูชิ ประกอบด้วยข้าวผสมน้ำส้มสายชู นำมาปั้นเป็นก้อนเล็กๆ ขนาดพอดีคำ จัดวางอาหารทะเล ปลา หอย กุ้ง ปลาหมึกไข่ปลา และอื่นๆ ลงบนข้าวปั้นแบบพอดีคำ แบบนี้เรียกว่านิงิริซูชิ (Nigirisushi) เป็นซูชิแบบที่คนนิยมที่สุด นอกจากนี้ซูชิก็ยังมีอีกหลายแบบ เช่นซูขิที่นำวัตถุดิบมาม้วน แล้วห่อด้วยสาหร่ายเรียกว่า มากิซูชิ (Maki Sushi) เป็นต้น
8 ซาชิมิ (Sashimi)

อีกหนึ่งวัฒนธรรมด้านอาหารของญี่ปุ่นก็คือซาชิมิ (Sashimi) ซึ่งได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติไม่แพ้ซูชิ ซาชิมิเป็นการรับประทานเนื้อสัตว์ดิบไม่ผ่านการปรุงรส ซึ่งจะต่างกับซูชิตรงที่ไม่มีข้าวเป็นส่วนประกอบ ซาชิมิจะเป็นเนื้อสัตว์สดๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อของปลาทะเล นำมาหั่นหรือแล่จนเป็นชิ้นบาง รับประทานง่าย มักจะทานควบคู่กับเครื่องปรุงรสที่ช่วยกลบกินคาวของเนื้อดิบได้ อย่างเช่น โซยุ วาซาบิ ขิงดอง หัวไชเท้าขูดเส้น เป็นต้น
ซาชิมิที่เห็นบ่อยที่สุดแน่นอนว่าคือเนื้อปลา แต่นอกจากปลาแล้วเนื้อสัตว์อย่างอื่นเช่น เนื้อม้า ที่นำมาหั่นบางๆ ก็เรียกว่าซาชิมิได้เช่นกัน
9 วากาชิ (Wagashi)

วากาชิ (Wagashi) เป็นคำเรียกรวมๆ ของขนมหวานดั้งเดิมของญี่ปุ่นทุกชนิด แปลได้ตามชื่อเรียก ซึ่งเป็นการผสมคำว่า wa ที่หมายถึงญี่ปุ่น และ kashi ที่หมายถึงขนมหวาน รวมกันเป็นขนมหวานแบบญี่ปุ่น
ส่วนใหญ่ วากาชิ จะหมายถึงขนมหวานที่มีมาแต่โบราณ หรือได้รับความนิยมมากในอดีต เช่นในสมัยเอโดะ วัตถุดิบของวากาชิก็มักใช้ของที่มีการเพาะปลูกในญี่ปุ่นมาแต่โบราณ ใครที่ชอบทานอาจจะเคยสังเกตเห็นว่า ไส้ของขนมญี่ปุ่นโบราณหลายชนิดมักทำจากถั่วแดงหรือถั่วขาว เป็นต้น
วากาชิยอดนิยมก็อย่างเช่น โดรายากิ (Dorayaki) หรือขนมแป้งทอดไส้ถั่วแดง ที่คนไทยรู้จักกันดีจากการ์ตูนโดราเอมอนนั่นเอง (Doraemon)
10 วาบิซาบิ (Wabi-Sabi)

วาบิซาบิ (Wabi-Sabi) เป็นอีกหนึ่งแนวคิดของศาสนาพุทธนิกายเซ็น (Zen) ประกอบขึ้นจากคำ 2 คำคือ “วาบิ” หมายถึง ความเรียบง่าย สมถะ และคำว่า “ซาบิ” คือความเงียบสงบ ใจที่นิ่ง เป็นปรัชญาที่ทำให้เราเห็นว่า
1. ทุกสิ่งล้วนไม่สมบูรณ์แบบ
2. แต่ในความไม่สมบูรณ์แบบ ก็มีความงามในตัวของมันเองซ่อนอยู่
วาบิซาบิสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยเราจะได้เห็นผ่านสิ่งต่างๆ เช่นชีวิตประจำวันที่เรียบง่าย การออกแบบงานศิลปะ เครื่องใช้ต่างๆ และสถาปัตยกรรม เป็นต้น
11 ละครโนห์ (Noh)

โนห์ (Noh) เป็นละครเวทีแบบเก่าแก่ของญี่ปุ่น จุดเด่นคือนักแสดงจะสวม “หน้ากากละครโนห์” เพื่อสวมบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ โดยจะแบ่งออกเป็นหน้ากากของผู้ชาย ผู้หญิง เทพเจ้า แต่ละตัวจะมีบทบาทแตกต่างกันออกไปเช่น นักปราชญ์ ปิศาจ คนบ้า และตัวละครในเทพนิยาย และแต่งกายแบบโบราณที่สวยงามขึ้นแสดงบนเวที มีการร้องผสมกันระหว่างเสียงสวดมนต์กับการเล่าเรื่อง และมีการบรรเลงดนตรีสลับด้วยในบางช่วง เรื่องที่นำมาเล่ามักจะมาจากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ หรือเรื่องราวของนักรบ
12 คาบูกิ (Kabuki)

ละครคาบูกิ (Kabuki) เป็นศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิม ที่คาดกันว่าเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 17 และได้พัฒนาจนกลายเป็นละครยอดนิยมของผู้คนในสมัยเอโดะ โดยในอดีตจะมีนักแสดงเป็นผู้ชายล้วน ร่ายรำและเล่าเรื่องโดยมีวงดนตรีบรรเลงประกอบ เนื้อเรื่องที่นิยมแสดงจะเกี่ยวกับสังคมซามูไร ตำนานวีรบุรุษ เวทมนต์ เรื่องราวชีวิตของชาวเมือง และเรื่องเศร้า เป็นต้น
13 บุนรากุ (Bunraku)

บุนรากุ (Bunraku) เป็นละครหุ่นแบบเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น การแสดงบุนรากุจะมีการบรรเลงดนตรีประกอบด้วยซามิเซ็น (Shamisen) นักเชิดหุ่นมักจะใส่ชุดสีดำเพื่อให้กลมกลืนกับฉากหลังที่มักมีสีดำ การเชิดหุ่นต้องใช้ฝีมือมากเพราะหุ่นแต่ละตัวจะมีความยาวประมาณ 1-1.5 เมตร ค่อนข้างใหญ่ และมีน้ำหนักมาก
การแสดงหุ่นดูแล้วเหมือนการแสดงของคนจริงๆ มีคนพากย์หุ่นคอยเล่าเรื่องราวที่เป็นมหากาพย์แบบสวดที่เรียกว่าโจรุริ (Joruri) โดยเรื่องที่เล่าก็มาจากมหากาพย์ชื่อดังที่เป็นเรื่องราวของวีรบุรุษนักรบ
14 ชามิเซ็น (Shamisen)

ชามิเซ็น (Shamisen) เป็นเครื่องดนตรีที่มีชื่อเสียงมากของญี่ปุ่น ใช้ประกอบการแสดงพื้นบ้านหลายชนิด เช่นบุนรากุและคาบูกิ ชื่อชามิเซ็นแปลว่า “สามสาย” เป็นเครื่องสายประเภทพิณที่มีสามสายตามชื่อ ลำตัวเป็นทรงสี่เหลี่ยม และในอดีตนิยมหุ้มด้วยหนังของหมาหรือแมว แต่ในปัจจุบันไม่นิยมทำกันแล้ว
เสียงของซามิเซนที่ดีดบรรเลงนั้นเปี่ยมด้วยพลัง โดยทั่วไปซามิเซ็นจะเล่นประกอบการร้องหรือการเล่าเรื่อง อย่างในการแสดงละครคาบูกิและละครหุ่นบุนรากุ ซามิเซ็นนั้นถือว่าเป็นตัวแทนของเครื่องดนตรีในยุคเอโดะที่สำคัญอย่างยิ่ง และผู้ที่สนใจในวัฒนธรรมญี่ปุ่นจะมีโอกาสได้พบเห็นบ่อยมาก
15 คาราเต้

คาราเต้ (Karate) แปลได้ว่า วิถีแห่งมือเปล่า เป็นศิลปะการต่อสู้ประเภทหนึ่งของญี่ปุ่น มีการผสมผสานกันระหว่างการต่อสู้ของชาวโอกินาวะและการได้รับอิทธิพลจากทักษะการต่อสู้แบบจีนที่ใช้ฝ่ามือ วิธีการต่อสู้คือใช้สมาธิดึงพลังจากทั่วร่างกายมารวมให้เป็นหนึ่งก่อนทำการโจมตีโดยใช้มือและเท้าต่อยและเตะเข้าที่ส่วนต่างๆ ของร่างกายคู่ต่อสู้ และอีกสิ่งสำคัญของคาราเต้คือการฝึกจิตใจให้มีความว่างเปล่า สามารถละเว้นจากความปรารถนา ความมีทิฐิและกิเลสต่างๆ ได้
16 ซูโม่

ซูโม่ (Sumo) เป็นกีฬาประจำชาติของญี่ปุ่น และกีฬายอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่น ที่หลายคนอยากไปดูซักครั้ง
ซูโม่พัฒนามาจากศิลปะการต่อสู้เก่าแก่และมีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของเทพเจ้า นักกีฬาซูโม่จะเป็นผู้ชายที่มีลักษณะร่างกายใหญ่โตอ้วนท้วนสมบูรณ์ เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ และมีพละกำลังมาก ทำผมทรงมัดจุกแบบสมัยเอโดะ สวมผ้าเตี่ยวที่เรียกว่ามาวาชิ (Mawashi) ต่อสู้ด้วยมือเปล่าโดยใช้คิมาริเทะ (Kimarite) ซึ่งเป็นคำเรียกท่าต่อสู้ของซูโม่ที่มีอยู่ 82 ท่า ผสมผสานกันออกท่าจับ เหวี่ยง ทุ่ม สกัด บิด หมุน
ซูโม่ตัดสินแพ้ชนะกันตรงที่ว่า ใครจะล้มลงก่อน หรือใครหลุดออกนอกเวทีดินที่เรียกว่า โดเฮียว (Dohyo) ก่อนกัน
17 คิวโด หรือการยิงธนู (Kyudo)

คิวโด (Kyudo) แปลว่าวิถีแห่งธนู เป็นการยิงธนูที่เกิดจากการฝึกฝนต่อสู้เพื่อสงครามของชาวญี่ปุ่นสมัยก่อน จนพัฒนามาเป็นกีฬาดังเช่นในปัจจุบัน
อุปกรณ์ที่ใช้มีคันธนูที่เรียกว่ายูมิ (Yumi) และลูกธนูไม้ไผ่ที่เรียกว่ายะ (Ya) คิวโดถือเป็นศิลปะการต่อสู้ที่สวยงามมากอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าแค่ปล่อยลูกศรจากคันธนูไปปักที่เป้า เพราะหลักของคิวโดคือการฝึกจิตใจและสมาธิให้นิ่ง และปัจจุบันยังคงมีการนำการยิงธนูไปใช้ในการประกอบพิธีสำคัญและเทศกาลต่างๆ
18 เคนโด้ (Kendo)

เคนโด้ (Kendo) แปลว่าวิถีแห่งดาบ เป็นศิลปะการต้อสู้ป้องกันตัวของคนญี่ปุ่น มีกระบวนท่าการต่อสู้ที่รวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด และต่อเนื่อง มีรากฐานมาจากการใช้ดาบของพวกซามูไรในสมัยก่อน และมีหลักฐานว่าฝึกฝนกันมามากกว่าพันปี อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเคนโด้ได้แก่ ดาบไม้ ชุดฝึกที่เรียกว่าเคโคงิ (Keiko-gi) กางเกงฮากามะ (Hakama) และชุดเกราะเครื่องแบบที่ประกอบด้วยเสื้อเกราะหน้าอก หน้ากาก ที่ป้องกันแขน และที่ป้องกันสะโพก
19 ยูโด

ยูโด (Judo) เป็นศิลปะการป้องกันตัวประเภทหนึ่งของญี่ปุ่น แปลได้ว่าวิถีแห่งความยืดหยุ่น มีที่มาจากศิลปะการต่อสู้ที่เรียกว่าจูจุตสึ (Jujutsu) หรือยิวยิตสูนั่นเอง โดยนำมาปรับใช้โดยเน้นการฝึกสมาธิให้แน่วแน่บวกกับการใช้พลังกายอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อต่อสู้ให้ชนะ
ยูโดนั้นไม่ได้ใช้อุปกรณ์ในการต่อสู้แต่ใช้เพียงมือเปล่า โดยใช้เทคนิคหลัก 3 แบบ คือ การทุ่ม (Nage-waza) การจับล็อกหรือทําให้จํานน (Katame-waza) และเทคนิคเกี่ยวกับการชกต่อย ทุบ ตี ถีบถอง ส่วนต่างๆของร่างกาย (Atemi-waza)
20 ดารุมะ

ถ้าพูดถึงตุ๊กตาตัวกลมๆ สีแดง มีตาข้างเดียวของญี่ปุ่น น่าจะมีคนนึกออกว่าเป็นตุ๊กตาดารุมะ (Daruma) ซึ่งจัดว่าเป็นเครื่องรางยอดนิยมของคนญี่ปุ่นเลยทีเดียว ดารุมะเป็นตุ๊กตาไม้ ลักษณะกลมคล้ายตุ๊กตาล้มลุก ไม่มีแขนและขา มีคิ้ว มีหนวดเครา แต่ไม่มีลูกตาสีดำ หน้าตาคล้ายคลึงกับพระโพธิธรรม ส่วนใหญ่เป็นสีแดง แต่ก็มีสีอื่นด้วย และมักมีความหมายที่เป็นพรอันเป็นมงคลต่างๆ
การที่ดารุมะไม่มีลูกตาดำก็เพราะเอาไว้สำหรับให้เจ้าของเป็นคนแต้มสีเองตอนขอพร โดยแต้มที่ตาขวา เมื่อขอพร และเมื่อได้พรสำเร็จสมปรารถนาแล้วก็แต้มสีที่ตาซ้ายแล้วนำไปวางไว้บนหิ้งให้ดารุมะหันไปทางทิศใต้
21 สาเก หรือเหล้าญี่ปุ่น นิฮงชู (Sake, Nihonshu)

สาเก (Sake) หรือนิฮงชู (Nihonshu) คือเหล้าญี่ปุ่นที่ทำจากข้าว ได้รับความนิยมมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถดื่มได้ทั้งแบบเย็นหรือนำมาอุ่นให้ร้อนแล้วค่อยดื่มก็ได้ นำไปใช้ในการประกอบอาหารก็ได้ รสชาติของสาเกก็มีหลากหลายมากตั้งแต่หวานไปจนถึงขม เพราะหัวใจของการทำสาเกอยู่ที่เชื้อโคจิ (Koji) ที่นำมาใช้หมักกับข้าว ซึ่งเป็นสูตรลับของแต่ละตระกูล อันนี้ก็แล้วแต่คนว่าชอบรสชาติแบบไหนกัน นอกจากนี้สาเกยังมีชื่อเรียกที่ต่างไปตามฤดูกาลด้วย เช่น ฤดูชมดอกซากุระก็เรียกว่าฮานามิสาเก (Hanami Zake) ชมหิมะตกก็เรียกยูคิมิสาเก (Yukimi Zake) เป็นต้น
คำว่าสาเก ในภาษาญี่ปุ่นจริงๆแล้ว เป็นคำเรียกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมๆ ทุกชนิด ถ้าคนญี่ปุ่นพูดคำว่าสาเก ก็อาจจะหมายถึงอยากดื่มเหล้า เบียร์ หรือเครื่องดื่มอื่นๆ ก็ได้
ส่วนเครื่องดื่มเหล้าหมักจากข้าวแบบญี่ปุ่นที่ชาวต่างชาติอย่างเราเรียกว่า “สาเก” คนญี่ปุ่นจะเรียกว่า นิฮงชู (Nihonshu)
22 การเขียนพู่กัน หรือโชโด (Shodou)

การเขียนพู่กัน (Shodou) เป็นศิลปะการเขียนตัวอักษรด้วยลายมือที่สวยงามซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แสดงให้เห็นความงดงามของตัวอักษร ทั้งอักษรคันจิ (Kanji) และตัวอักษรคานะ (Kana) อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบด้วยกระดาษญี่ปุ่นและพู่กัน ซึ่งในอดีตพู่กันมักทำมาจากขนของสัตว์เช่นขนแกะ ขนม้า เป็นต้น โดยจุ่มพู่กันที่ทำจากขนสัตว์ลงในหมึกดำ แล้วเขียนตัวหนังสือลงไป การตวัดพู่กันเขียนนี้ต้องใช้สมาธิความประณีต และใส่ความรู้สึกลงไปในขณะเขียนเพื่อให้ออกมาเป็นผลงานศิลปะที่มีความหมาย
23 สวนญี่ปุ่น (Teien หรือ Nihon-Teien)

สวนแบบญี่ปุ่น (Teien หรือ Nihon-Teien) ได้รับอิทธิพลมาจากสวนของจีนที่เข้ามาพร้อมกับการเผยแผ่พุทธศาสนา การจัดสวนจึงเริ่มต้นจากในวัด ต่อมาก็ได้รับเอาความเป็นสวนแบบเซ็น มาผสมผสานและสร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง การจัดสวนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการจัดองค์ประกอบของภูมิทัศน์โดยในสวนจะต้องมีน้ำตก ลำธาร สระน้ำ หรือเกาะกลางน้ำและสะพานข้าม มีพืชพันธุ์ต่างๆ หินประดับ ตะเกียงหินตั้งตามจุดต่างๆ และทางเดินชมสวน
24 โอมาโมริ

โอมาโมริ (Omamori) มีความหมายว่าปกป้องคุ้มครอง เป็นเครื่องรางของศาลเจ้าในญี่ปุ่น มีหลายรูปแบบ ทั้งแบบดั้งเดิมที่เป็นถุงผ้าขนาดเล็กซึ่งน่าจะคุ้นตากันดี และปัจจุบันยังมีทำเป็นสติ๊กเกอร์ พวงกุญแจ สายคล้องมือถือ และอีกหลายแบบที่เหมาะกับวิถีชีวิตคนสมัยใหม่ คนที่มาไหว้ขอพรที่ศาลเจ้ามักซื้อเอาไปพกติดตัวเพื่อเสริมสิริมงคล
โอมาโมริมีหลายความหมาย และมีหลายสี โอมาโมริมักจะแบ่งประเภทชัดเจนว่าเน้นให้โชคลาภด้านไหนเป็นพิเศษ เช่น ด้านการงาน ด้านการค้าขาย ด้านสุขภาพ ด้านการเรียน ด้านความรัก ด้านการเดินทางปลอดภัย เป็นต้น
25 ไฮกุ

ไฮกุ (Haiku) คือบทกวีญี่ปุ่น มาจากบทกวีดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่เรียกว่า ไฮไค (Haikai) หรือ เร็งกุ (Renku) ไฮกุมีมานานกว่า 400 ปีแล้ว และมีบทบาทมากในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 หนึ่งบทกลอนประกอบด้วยคำกลอนรวมทั้งหมด 17 พยางค์ เขียนแบ่งเป็น 3 วรรค วรรคแรก 5 พยางค์ วรรคที่สอง 7 พยางค์ และวรรคที่สาม 5 พยางค์ตามลำดับ พรรณนาถึงสภาพจิตใจ จิตวิญญาณและความรู้สึกที่ลึกซึ้ง เนื้อหาเน้นความเรียบง่าย ไม่ยึดติดตามแบบแผน มีความอิสระไร้ข้อจำกัด เป็นไปตามกระแสธรรมชาติเรื่อยๆ และมีความสั้นกระชับ
26 คารุตะ

หลายๆ คนอาจจะเคยผ่านตามาบ้างในละครหรือการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีฉากเล่นไพ่คารุตะ (Karuta) คารุตะนั้นที่จริงแล้วมาจากคำภาษาโปรตุเกสที่หมายถึง “ไพ่” และญี่ปุ่นเองก็มีคารุตะหลากหลายชนิด
คารุตะที่น่าจะเป็นที่นิยมที่สุดคือ ไพ่จับคู่บทกลอน 100 บทของญี่ปุ่น โดยกติกาการเล่นคือจะมีคนหนึ่งอ่านกลอนวรรคแรกบนไพ่อ่านที่เรียกว่าโยมิฟุดะ (Yomifuda) แล้วผู้เล่นคนอื่นๆ ที่มาร่วมเล่น ก็ต้องแย่งกันหยิบไพ่ที่เรียกว่าโทริฟุดะ (Torifuda) ที่เป็นกลอนวรรคหลัง มาจับคู่กัน
27 โอริงามิ

ถ้าพูดถึงการละเล่นญี่ปุ่น โอริงามิน่าจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกแรกที่คนจะนึกถึง
โอริงามิ (Origami) เป็นเป็นศิลปะในการพับกระดาษของญี่ปุ่น มาจากคำว่าพับ (Ori) และคำว่ากระดาษ (Kami) โดยใช้กระดาษแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดตั้งแต่ 2.5 เซนติเมตร ไปจนถึง 25 เซนติเมตรที่เป็นสีเดียวกัน หรือต่างสีกัน หรือจะเป็นกระดาษที่มีลวดลายต่างๆ ก็ได้ มาทำการพับทบไปจนเป็นรูปร่างต่างๆ เช่น นก ปลา กบ และอีกมากมาย
28 โชงิ หรือหมากรุกญี่ปุ่น (Shogi, Japanese Chess)

โชงิ (Shogi) คือหมากรุกญี่ปุ่น เป็นเกมกระดานที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่โบราณจนกระทั่งปัจุบันก็ยังมีผู้นิยมเล่นกันเยอะ โชงิเริ่มได้รับความสนใจเล่นกันมากในสมัยเฮอันเรียกว่าเฮอันโชงิ (Heian Shogi) และแพร่หลายในสมัยเอโดะ จนมีการก่อตั้งชมรมโชงิขึ้น อุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นโชงิคือกระดานขนาด 9×9 ช่อง และตัวหมากทั้งหมด 40 ตัว หมากแต่ละตัวจะมีตัวอักษรคันจิเขียนกำกับไว้ด้านบน ลักษณะการเล่นเหมือนจำลองการทำสงคราม โดยผู้เล่น 2 ฝ่ายทำสงครามกัน โดยที่แต่ละฝ่ายก็จะมีขุนพล ทหาร แม่ทัพ และตัวหมากต่างๆ ทำการสู้รบเพื่อที่จะเป็นผู้ชนะในศึก
29 อิเคบานะ (Ikebana)

โชงิ (Shogi) คือหมากรุกญี่ปุ่น เป็นเกมกระดานที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่โบราณจนกระทั่งปัจุบันก็ยังมีผู้นิยมเล่นกันเยอะ โชงิเริ่มได้รับความสนใจเล่นกันมากในสมัยเฮอันเรียกว่าเฮอันโชงิ (Heian Shogi) และแพร่หลายในสมัยเอโดะ จนมีการก่อตั้งชมรมโชงิขึ้น อุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นโชงิคือกระดานขนาด 9×9 ช่อง และตัวหมากทั้งหมด 40 ตัว หมากแต่ละตัวจะมีตัวอักษรคันจิเขียนกำกับไว้ด้านบน ลักษณะการเล่นเหมือนจำลองการทำสงคราม โดยผู้เล่น 2 ฝ่ายทำสงครามกัน โดยที่แต่ละฝ่ายก็จะมีขุนพล ทหาร แม่ทัพ และตัวหมากต่างๆ ทำการสู้รบเพื่อที่จะเป็นผู้ชนะในศึก
30 แมวกวัก มาเนกิ เนโกะ (Maneki Neko)

แมวกวักญี่ปุ่นหรือมาเนกิ เนโกะ (Maneki Neko) เป็นสิ่งมงคลเกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องโชคลาภของคนญี่ปุ่น เป็นตุ๊กตารูปปั้นแมวที่อยู่ในท่านั่ง มีหลายขนาด สวมใส่ปลอกคอพร้อมกระดิ่งห้อยที่คอ ยกขาหน้าขึ้นในลักษณะกวักขาข้างใดข้างหนึ่งหรือบางตัวก็กวักทั้ง 2 ข้าง มีความเชื่อว่าถ้ายกขาขวาจะกวักเรียกเงินทองและโชคลาภ ยกขาซ้ายจะเรียกลูกค้าเข้าร้าน และถ้ายกขาทั้งสองข้างจะเรียกทั้งลูกค้าและเงินทอง เป็นต้น
อ้างอิง : allabout-japan